June 9, 2023

ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ก้าวใหม่ของสังคมไทยสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน

ปัจจุบันมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวคู่รักชายหญิงทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวกลับไม่มีกฎหมายรับรองไว้   ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงได้   ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๖  และมาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะการปฏิเสธไม่ยอมรับให้คู่รักเพศเดียวกันสมรส อาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพราะความแตกต่างทางเพศ หรือการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลเรื่องเพศนั่นเอง

มุมมองทางสังคมกฎหมายสำหรับการสมรสของคนเพศเดียวกันนั้น กฎหมายดังกล่าวจะนำมาซึ่งการที่คู่สมรสจะได้รับการยอมรับจากครอบครัว สังคม ถึงแม้ในปัจจุบันคู่รักเพศเดียวกันจะอยู่ด้วยกันได้อยู่แล้วเนื่องจากสังคมไทยมีประเพณีการแต่งงานตามวัฒนธรรมไทยโดยไม่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสหรือที่เรียกว่าการสมรสโดยไม่จดทะเบียน แต่สังคมก็ยังมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ถ้ามีกฎหมายมารับรองให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้ น่าจะทำให้ความสัมพันธ์นี้มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่

มุมมองในแง่กฎหมายนั้น ข้อจำกัดของกฎหมายไทย ในกฎหมายลักษณะครอบครัว บรรพ5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ว่า การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ชายและหญิง” อายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ , มาตรา 1457 กำหนดว่า การสมรสตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น และ มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ “ชายหญิง” ยินยอมเป็นสามีภรรยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ และมาตรา152 เรื่องต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด ทำให้คู่สมรสตามกฎหมายไทยปัจจุบันต้องเป็นคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น  เพราะฉะนั้นมาตราต่างๆในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นอุปสรรคต่อการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกันจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่จะออกมาใหม่ด้วย

มุมมองของความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกันที่จะสามารถสมรสกันได้เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวออกบังคับใช้ แต่ยังมีเรื่องคนข้ามเพศหรือบุคคลที่ได้รับการแปลงเพศแล้ว ดังนั้น การจะแก้ไขกฎหมายทางเพศ ต้องเริ่มจาก การแก้ไขสถานะทางเพศของบุคคลที่แปลงเพศแล้ว ควบคู่ไปกับกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันด้วย

ข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้น มีดังนี้คือ

-นิยามของคำว่าคู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนที่จดทะเบียนกันตามพระราชบัญญัตินี้

-การจดทะเบียนจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว (ตามกฎหมายปัจจุบัน การบรรลุนิติภาวะคืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจดทะเบียนสมรสกัน)

-บุคคลใดที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว มาจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้ว ไปจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนครั้งหลังถือเป็นโมฆะ

-คู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเสมือนอยู่ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

-คู่ชีวิตอาจเลือกใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้

-ในเรื่องทรัพย์สิน ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามาใช้บังคับ (สิทธิในการจัดการทรัพย์สินเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)

-ในเรื่องมรดก ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาใช้บังคับ (คู่ชีวิตมีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)

-คู่ชีวิตมีสิทธิต่างๆ ในฐานะคนในครอบครัว เช่น เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาแทนเจ้าตัวได้ เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์หากคู่ชีวิตถูกสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ ฯลฯ

มุมมองความเป็นสากลของกฎหมายร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเทศทางตะวันตกหลายประเทศเช่น ประเทศเดนมาร์ค ฝรั่งเศส เวอร์มอนด์ แคลิฟอร์เนีย เยอรมัน ใช้กฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ ลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัตินี้ ส่วนประเทศแคนาดา เบลเยียม สเปน แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อาร์เจนติน่า ก็มีการแก้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ลักษณะครอบครัว เพื่อให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันได้ จะเห็นได้ว่าทั่วโลกได้ให้การยอมรับมากขึ้นสำหรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน  แต่ในเอเชีย ยังไม่มีประเทศใดให้การยอมรับกฎหมายลักษณะนี้เลย ฉะนั้นถ้าหากไทยผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้ ก็จะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ให้การยอมรับเรื่องดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความมีอารยะธรรมและความก้าวล้ำด้านมุมมองและความเข้าอกเข้าใจในตัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในขณะที่ไทยกำลังจะเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นผู้นำในด้านสิทธิความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศด้วย

มุมมองในด้านความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาและออกบังคับใช้เป็นกฎหมาย เราคงจะได้เห็นคนต่างประเทศที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันเข้ามาจดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทยมากขึ้นหากประเทศของเขาเองยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว รวมถึงเรื่องการขอวีซ่าคู่หมั้น วีซ่าแต่งงานของคนไทยในประเทศที่มีการออกกฎหมายแล้ว ระเบียบการขอคงต้องถูกนำมาใช้กับคู่สมรสเพศเดียวกันด้วย เห็นได้ว่าเรื่องกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตคงนำมาซึ่งเรื่องต่างๆอีกมากมาย

ฉะนั้นหากว่าร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตสามารถออกบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ เราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมุมมองต่างๆของสังคม ยิ่งบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างบุคคลประเภทที่3หรือคู่รักเพศเดียวกัน คงจะได้รับการยอมรับจากสังคมไทยมากขึ้น และได้รับซึ่งสิทธิและหน้าที่เขาควรจะได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับบุคคลเพียงกลุ่มเดียว แต่เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้บังคับ สังคมไทยคงได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางกฎหมายเป็นอย่างมาก

สำนักกฏหมาย

ชนินาฎ แอนด์ ลีดส์

ให้บริการจดทะเบียนวีซ่าแต่งงาน วีซ่าคู่หมั้น สำหรับคู่รักชาวต่างชาติ

Speak Your Mind

*