ในอดีตเมื่อนักโทษได้รับโทษจำคุกก็ต้องเข้าห้องขัง แต่ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งกำหนดวิธีการลงโทษคนที่กระทำความผิดอาญา โดยไม่ต้องจำคุกในเรือนจำ แต่ให้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของนักโทษแทน โดยใช้อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เรียกว่า EM หรือ “Electronic Monitoring” ซึ่งสามารถตรวจสอบการเดินทางของผู้สวมใส่ได้และให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมประพฤติโดยไม่ต้องถูกขังในเรือนจำ
ชนินาฎ แอนด์ ลีดส์
รับปรึกษาปัญหาคดีอาญา รับดำเนินการคดีอาญาแก่บุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
การใช้วิธีการลงโทษแบบนี้ ต้องให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่ง โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งเหตุในการใช้วิธีการลงโทษแบบใหม่ตามที่กฎกระทรวงระบุไว้ คือ ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก หรือจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะหรือเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่น ๆ ทั้งนี้การจำกัดการเดินทางและอาณาเขต อาจจำกัดอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไป โดยอาจให้อยู่แต่เฉพาะบริเวณบ้านพักอาศัยหรือในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ หรือกำหนดอาณาเขตที่ห้ามเดินทางก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีจำกัดการเดินทางเป็นบางช่วงเวลาก็ได้
มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการ ที่ในหลายประเทศ อาทิเช่น อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ บราซิล อิสราเอล และเกาหลีใต้ได้นำเครื่องมือนี้ มาใช้แทนการคุมขังในเรือนจำแล้ว แสดงให้เห็นถึงการวิวัฒนาการของกฎหมายอาญาของไทย
แนวคิดการลงโทษแบบนี้จะช่วยให้เรือนจำแออัดน้อยลง และเปิดโอกาสให้นักโทษกลับคืนสู่สังคมได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่ก็มีบางแนวคิดมองว่าเป็นการปล่อยอาชญากรออกมาอยู่นอกคุกเร็วกว่ากำหนดและอุปกรณ์ดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือพอและอาจทำให้คนไม่กลัวการกระทำความผิดเพราะวิธีการลงโทษไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกิดความทุกข์ทรมานเกินไป
แม้ว่าจะมีข้อสังเกต ข้อกังวล จากสังคมอยู่มาก แต่คงต้องลองใช้วิธีการลงโทษดังกล่าวก่อนที่จะตัดสินว่าวิธีการนี้เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่
Speak Your Mind